งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภาคตะวันออก ครั้งที่ ๓๔

งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภาคตะวันออก ครั้งที่ ๓๔

        ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” โดยกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

        คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ภาคตะวันออก ร่วมกับหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยบูรพา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภาคตะวันออก ครั้งที่ ๓๔ ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีนวัตกรรม” หัวข้อจัดงานย่อย “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)” ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ของสถาบันการศึกษาและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มากยิ่งขึ้น รู้จักการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั่วประเทศ โดยมีพิธีเปิดงานในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ณ ห้อง CL-101 อาคารปฏิบัติการพื้นฐานและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานเปิดงาน และ ผศ.ดร.เอกรัฐ ศรีสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานภาพรวมของการจัดงาน และการปาฐกถาพิเศษโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โดยมีผู้แทนหน่วยงาน คณาจารย์ และนักเรียน เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี ทั้งนี้มีการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐ ให้กับคณาจารย์ในคณะ จำนวน ๓ ท่าน ดังนี้ รางวัลนักวิจัยดีเด่นที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารมากที่สุด ได้แก่ รศ.ดร.วีรพงศ์ วุฒิพันธ์ชัย สังกัดภาควิชาวาริชศาสตร์ รางวัลนักวิจัยดีเด่นที่มีผลงานตีพิมพ์ใน Impact factor สูงที่สุด ได้แก่ ผศ.ดร.สุทิน กิ่งทอง สังกัดภาควิชาชีววิทยา และ รางวัลนักวิจัยดีเด่นที่มีผลงานตีพิมพ์ใน Impact factor รวมสูงที่สุด ได้แก่ รศ.ดร.สรายุทธ เตชะปัญญา สังกัดภาควิชาฟิสิกส์

        ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ได้แก่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและผลงานวิชาการจากคณาจารย์และนิสิต และนิทรรศการผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การประกวด การแข่งขันและกิจกรรมเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เช่น การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การประกวดเรียงความทางวิทยาศาสตร์ การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนักวิทยาศาสตร์น้อย การประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ การประกวดภาพวาดการ์ตูนและจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ 

[ ภาพกิจกรรม : พิธีเปิด - นิทรรศการ - การแข่งขัน - บรรยากาศทั่วไป – รับรางวัล/ พิธีปิด ] 






 

 

ข่าวประชาสัมพันธ์

 [-] 

ประเภทข่าว
 ข่าววิจัย/ นวัตกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวอบรม/ สัมมนา
ข่าวทั่วไป
 ข่าวภาควิชา
การศึกษา
วิชาการ
บริการวิชาการ